เรื่องต้องรู้ เมื่อ LGBTQ จะวางแผนซื้อที่อยู่อาศัย
เวลาที่เรามีความรักกับใครสักคน เราก็คงอยากจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับคู่รักเราไปนาน ๆ ร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกัน ในอดีตทางเลือกในการมีบ้านสักหลังของคู่รัก LGBTQ มีไม่มากนัก สาเหตุที่แต่เดิมที่ไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ร่วม LGBTQ ได้ เนื่องจาก ผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกัน ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ดังนั้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคาร การที่คู่รัก LGBTQ นั้นไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ จึงไม่อาจมีความสัมพันธ์กันได้ทางนิตินัย แต่ปัจจุบันเริ่มมีหลายธนาคารเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ สามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ โดยเฉพาะการกู้ร่วมซื้อบ้าน แต่ปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น และหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBTQ กู้ร่วมซื้อบ้านได้ ดังนั้นการวางแผนเรื่องเงินกับชีวิตคู่เพื่อจะมีทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกันจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการซื้อบ้าน และในวันนี้ กรีนเนอรี่ วิว มีคำแนะนำในการวางแผนซื้อบ้านสำหรับชีวิตคู่ให้ราบรื่น เพราะเรื่องเงินกับชีวิตคู่คือเรื่องสำคัญ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการมีบ้าน เอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมในการกู้สินเชื่อบ้าน รวมไปถึงการคำนวณวงเงินในการซื้อบ้าน
จะซื้อบ้านร่วมกัน คู่รัก LGBTQ ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้วเราจะต้องพบค่าใช้จ่ายหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านกับโครงการ
เมื่อเราได้บ้านที่ถูกใจแล้ว ค่าจอง คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างแรก เป็นเงินที่เราต้องจ่ายแก่โครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราสนใจโครงการบ้านนี้จริง ๆ ราคาค่าจองนั้นจะอยู่ขึ้นอยู่กับโครงการมักเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับราคาขาย เมื่อเราทำการจองแล้วทางโครงการจะออกใบเสร็จรับเงินมาให้
ค่าทำสัญญา หลังจากที่เราจองซื้อแล้ว ทางโครงการจะทำสัญญาจองกับเรา เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์โดยมีเอกสารเป็นสัญญารับรอง หลังจากเราทำสัญญาจองซื้อแล้ว จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเป็นสัญญาที่ระบุข้อมูลการซื้อและรายละเอียดของโครงการทั้งหมด (กรณีค่าทำสัญญาอาจจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่แต่ละโครงการ) ค่าจองซื้อและค่าทำสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาค่าบ้านหรือคอนโด หรือโครงการจะนำไปหักจากราคาซื้อขายให้เรา ณ วันโอนนั่นเอง
2. ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินกับทางธนาคาร
ค่าประเมินบ้านเพื่อพิจารณาสินเชื่อ เราจะทำการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ หรือหลายโครงการมักจะดำเนินการให้ด้วย ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายให้ธนาคารประเมินบ้าน เพื่อพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อเรา โดยธนาคารจะประเมินจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ ราคากลาง ราคาตลาด ทำเล และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง สำหรับค่าผ่อนบ้านและดอกเบี้ย เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่เราได้รับสินเชื่อแล้ว ซึ่งในทุก ๆ เดือนเราจะต้องจ่ายเงินเพื่อผ่อนบ้านตามสัญญาจนครบกำหนด ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขต่างกันออกไป
3. ค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานราชการ
ค่าขอมิเตอร์สาธารณูปโภค เป็นค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟและมิเตอร์น้ำ ซึ่งเราจะต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าและการประปา เพื่อให้เรามีน้ำและไฟใช้ในบ้าน ในกรณีนี้ หลายโครงการก็จะดำเนินการให้
ค่าธรรมเนียมในการโอนบ้าน เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้จ่ายกรมที่ดิน อยู่ที่ประมาณ 1 – 2% ของราคาสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งจะแบ่งกันจ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง เมื่อเรากู้เงินซื้อบ้านจะต้องมีการจ่ายเงินส่วนนี้ให้กรมที่ดิน ซึ่งคิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่ภาครัฐอาจมีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงในบางระยะเวลา จึงควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ก่อนซื้ออีกครั้ง (กรณีค่าทำสัญญาอาจจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่แต่ละโครงการ)
เราอาจจะพบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น การเก็บค่าส่วนกลางล่วงหน้า และเมื่อบ้านเสร็จแล้ว เราอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจบ้านก่อนรับบ้านจากโครงการ เพื่อดูว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้างหลังจากนั้นจึงเซ็นตรวจรับบ้านมาเป็นของเรา และอย่าลืมค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเพิ่มเติมด้วย
เตรียมเอกสารที่ใช้เพื่อขอสินเชื่อบ้านสำหรับคู่รัก lgbtq
เอกสารส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน รวมไปถึงใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี) ของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะกู้ร่วมกัน
เอกสารด้านการเงิน เช่น หนังสือรับรองการทำงานจากทางบริษัท หรือสำเนาสลิปเงินเดือนฉบับล่าสุด และบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน และหากทำธุรกิจส่วนตัวต้องเตรียมหลักฐานการมีอยู่ของกิจการ เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า ไม่เกิน 3 เดือน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่เกิน 3 เดือน และบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น
เอกสารหลักประกัน เอกสารกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราซื้อบ้าน หรือปลูกบ้านเอง ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทรัพย์สิน
กรณีที่ซื้อบ้าน จะใช้เอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย โฉนดที่ดิน หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด
กรณีปลูกบ้าน จะใช้เอกสาร โฉนดที่ดิน แบบแปลนบ้าน ใบอนุญาตก่อสร้าง สัญญาว่าจ้างในการก่อสร้าง เป็นต้น
หลักฐานการอยู่ด้วยกัน เราจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงให้ธนาคารได้เห็นว่า เราเป็นคู่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาก่อน เช่น สัญญาเช่าบ้านที่มีชื่อร่วมกัน เอกสารค่าน้ำค่าไฟ บัญชีเงินฝากร่วม รวมไปถึงภาพถ่ายและหลักฐานอื่น ๆ ที่มีชื่อร่วมกัน
วิธีการอื่น ๆ ที่ LGBTQ สามารถกู้บ้านร่วมกันได้
วิธีการหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการทางอ้อมแต่ทำให้ LGBTQ สามารถกู้ร่วมกันได้ก็คือ การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME โดยคู่รัก LGBTQ+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นจะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นก็ยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2-3% ต่อปีโดยประมาณอีกด้วย